มาทำปุ๋ยหมักกันเถอะ
ชีวิตเกษตรกร ไม่ว่าจะเดินทางสายเกษตรเคมี เกษตรอินทรีย์ ก็จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย ซึ่งก็มีขายทั้งนั้น แต่โชคดีหน่อยถ้าใครเดินมาทางสายเกษตรอินทรีย์ ก็สามารถทำปุ๋ยได้เอง แต่ถ้าคิดอยากทำปุ๋ยหมักเอง ทำยังไงล่ะ นี่คือสิ่งที่เป็นคำถามสำหรับผม ตอนที่ผมลาออกจากงานมาทำสวนใหม่ๆ ทำปุ๋ยหมัก ทำน้ำหมัก เขาทำกันยังไง จากประสบการณ์ที่ผ่านมา ถ้าได้ลงมือทำด้วยตัวเอง ความสงสัยมันก็จะหายไป
สูตรปุ๋ยหมัก ปุ๋ยหมักมีหลายสูตร หลายค่าย หลายศูนย์การเรียนรู้ ผสมโน่น ผสมนี่ ต่างก็อวดสรรพคุณว่าของตัวเองเจ๋งกันทั้งนั้น สำหรับผมแล้วสูตรไหนก็ได้ ที่ได้ทำเองเจ๋งที่สุด เพราะมันได้มาจากหยาดเหงื่อแรงงานของตัวเอง ปุ๋ยหมักหลักๆ ก็เป็นมูลสัตว์ และก็วัสดุอื่นๆ ที่มีในท้องถิ่น ใบไม้ ใบหญ้า ฟาง ได้ทั้งนั้น มีอะไรก็เอาอันนั้นมาใช้ อย่าไปแสวงหา จนเกิดต้นทุน อย่าไปแสวงหาจนเป็นข้ออ้าง แล้วไม่ได้ทำ
จุลินทรีย์ ส่วนสำคัญอีกอย่างคือ จุลินทรีย์ ที่ใช้ในการย่อยสลาย ก็ไม่ต้องยึดติดครับ มี พด. 1 ก็ใช้ พด. 1 มี EM ก็ใช้ EM มีจุลินทร์ยี่ห้ออื่นก็ใช้ไป ใครเก่งสามารถทำจุลินทรีย์ท้องถิ่นได้ ก็ทำไป เพราะทั้งหมดทั้งมวลมันก็ช่วยในการย่อยสลายทั้งนั้น ผมใช้ สารเร่ง พด. 1 ของกรมพัฒนาที่ดินครับ เป็นจุลินทรีย์แบบแห้ง แจกฟรี ไม่ต้องเสียตังค์ซื้อ
กลับกองหรือไม่กลับกอง ก็ศึกษาเองนะครับว่า ถนัดแบบไหน รอบนี้ผมจะทำแบบกลับกอง การกลับกองก็เพื่อลดอุณหภูมิ ไม่ให้สูงเกินจนจุลินทรีย์ตัวดีตายไป แล้วจุลินทรีย์ตัวร้ายเข้ามาแทนที่ (ความจริงแล้วอย่าไปเครียดกับมันครับ สุดท้ายออกมาเป็นปุ๋ย ใส่ผักงามก็จบ)
เริ่มเลยครับ ของผมใช้ส่วนผสมดังนี้
- ขี้ไก่แกลบ
- ขี้วัว
- กากตะกอนจากโรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม
เอามากองรวมกัน แล้วผสมให้เขากัน
เมื่อก่อนทำปุ๋ยหมักผมก็ใช้จอบนี่แหละครับ เป็นตัวผสมวัสดุให้เข้ากัน แต่ครั้งนี้ผมใช้รถพรวนผสมวัสดุให้เข้ากัน
ให้ละลาย พด.1 กับน้ำ 20 ลิตร ตามสูตร น้อยกว่ามากกว่าก็ไม่เป็นไรหรอก ไม่ต้องถึงกับชั่งตวงวัด คนให้เข้ากัน แล้วทิ้งไว้ 10 นาที หรือนานกว่านั้นก็ได้
แล้วนำไปรดบนกองวัสดุที่ผสมเข้ากันแล้วให้ทั่วกอง
ต่อจากนั้นให้รดน้ำ ให้มีความชื้น 60% ตายล่ะ 60% คือแค่ไหน ช่างหัวมันก่อน รดๆ ไปเถอะ ถ้าคลุกเคล้าแล้วมันแห้งก็ค่อยฉีดน้ำเพิ่ม
เมื่อฉีดน้ำจนคิดว่าได้แล้ว ก็คลุกเคล้าให้เข้ากัน ไม่มีรถใช้จอบครับ แต่ผมใช้รถพรวนอีกครั้ง
คราวนี้มาเฉลย ความชื้น 60% ที่ว่าเอาวัสดุที่เราผสมแล้วฉีดน้ำ เอามากำ ถ้ามีน้ำออกมาตามง่ามนิ้ว แสดงว่าแฉะเกินไป แบมือออกแล้ว วัสดุไม่จับกันเป็นก้อน แสดงว่าแห้งเกินไป ถ้าวัสดุจับกันเป็นก้อน และไม่มีน้ำออกมาตามง่ามนิ้ว แสดงว่าใช้ได้
เมื่อความชื้นได้แล้วก็ตั้งกองครับ ไม่มีรถแทรกเตอร์ ก็แทรกเตอร์จอบนี่แหละครับ
จะเหนื่อยก็ขั้นตอนนี้แหละ
ตั้งกอง โกยไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็เสร็จ กว้างxยาวxสูง ก็เอาตามสะดวกครับ พื้นที่เราจำกัด จะไปตามทฤษฎีทุกอย่างก็ไม่ไหว
วิธีการใช้สารเร่ง พด.1 ลองศึกษาดูนะครับ
หลังจากนี้ผมก็ต้องมาตรวจดูความร้อนในกองปุ๋ย มีคนแนะนำมาว่าเมื่อไหร่ควรกลับกอง ให้เอามือแหย่เข้าไปในกองปุ๋ยหมัก ถ้าร้อนจนทนไม่ได้ให้กลับกอง จะสองสามวันครั้ง หรือทุกวัน ก็แล้วแต่อุณหภูมิ หรือจะมีเทคนิคอื่นๆ ก็ลองหาข้อมูลดูนะครับ
แล้วเมื่อไหร่ปุ๋ยหมักนี้จะใช้ได้ ใช้ได้ตอนที่มันเย็นดีแล้ว ซึ่งนานแค่ไหนก็ขึ้นกับวัสดุที่เราเอามาหมักครับ หวังว่ามือใหม่อยากลองทำปุ๋ยหมักคงนำไปใช้ได้นะครับ